การแสดง ของ บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง

บัญญัติได้ติดตามผลงานทางศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ตั้งแต่เยาว์วัย เช่น เพลงบอก หนังตะลุง เพลงของเอกชัย ศรีวิชัย ทำให้บัญญัติมีความชื่นชอบในศิลปะเหล่านี้อย่างมาก และอยากมีชื่อเสียงจากการแสดงศิลปะเหล่านี้ จึงเริ่มฝึกหัดตั้งแต่อายุได้ 10 ปี จากนั้นได้เริ่มตระเวนไปแสดงกับวงธงชัยโชว์ และรู้จักกับเชาวรัตน์ รักษาพล ครู กศน. ผู้ก่อตั้งวงครูเชาว์โชว์ จึงได้เริ่มแสดงทอล์กโชว์ด้วยกันในบางโอกาส

ต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี บัญญัติได้ร่วมเดินสายการแสดงกับศรีวิชัยโชว์ของเอกชัย ศรีวิชัย โดยการร้องเพลง เมื่อออกงานได้ประมาณ 10 คืน เหล่าผู้ชมจึงได้มอบเงินประมาณ 100,000 บาทด้วยความเอ็นดู เอกชัยจึงสมทบทุนให้เพิ่มเติม หลังจากนั้นบัญญัติได้นำเงินก้อนนี้ไปซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านให้มารดา[2]

บัญญัติขณะแสดงหนังตะลุง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2562
วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
การแสดงหนังตะลุงของบัญญัติ ที่มีตัวหนังตะลุงที่ทำเป็นรูปพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ส่วนหนังตะลุงบัญญัติเริ่มเล่นอย่างจริงจังเมื่ออายุได้ 15 ปี โดยในครั้งแรกเขาได้แสดงบนเพิงขายขนมจีนหน้าบ้าน โดยมีชาวบ้านมาชื่นชมในความสามารถในการพากย์เสียงและมุกตลก จนต่อมาบัญญัติได้ก่อตั้งคณะ "ลูกทุ่งวัฒนธรรม"[3] เพื่อทำการแสดงเมื่ออายุได้ 18 ปี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากเอกลักษณ์ของการแสดงหนังตะลุง นอกจากนี้คณะของบัญญัติยังมีมโนราห์ เพลงบอก และเพลงลูกทุ่งอีกด้วย[2] บัญญัติกล่าวว่าที่สามารถเล่นหนังตะลุงได้ดีแม้พิการเพราะฝึกฝนและสร้างความคุ้นเคยกับตัวหนังตะลุง อีกทั้งมีการดูสถานการณ์ในขณะที่กำลังทำการแสดงด้วย ไม่เพียงแสดงไปตามบท และแสดงอย่างสุดความสามารถ[3] โดยการแสดงหนังตะลุงของบัญญัตินั้นหากพื้นที่อำนวยจะใช้จอขนาดใหญ่กว้างคล้ายเวทีแสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่และมีการฉายภาพด้วยเครื่องฉายภาพเป็นฉากพื้นหลังระหว่างการแสดงอีกด้วย ทำให้ขนาดของจอจึงต้องให้ตัวหนังตะลุงขนาดใหญ่และต้องมีผู้ช่วยอีก 1 คน เนื้อหาการแสดงจะสอดแทรกเหตุการณ์ปัจจุบันลงไปในการแสดง ยกตัวอย่าง การแสดงหนังตะลุงโดยใช้ตัวหนังตะลุงรูปนายกรัฐมนตรีและเลียนแบบเสียง รูปหนังตะลุงบุคคลสำคัญในสมัยใหม่และอิริยาบถสมัยใหม่ เช่น ตัวหนังตะลุงเล่นไอแพด ขี่เฮลิคอปเตอร์หรือรถยนต์ ตัวการ์ตูน ใช้ภาษาตามพื้นที่และสถานการณ์ นอกจากนี้ยังได้บันทึกการแสดงเป็นแผ่นซีดีออกขายด้วย[1][4]

ในปี พ.ศ. 2522 ได้รับการว่าจ้างจากไพฑูรย์ อินทศิลา ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ไปแสดงในงานบุญสารทเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราชและมีการลงข่าวในสื่อต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักอย่างมาก และมีตารางการแสดงสดยาวข้ามเดือนข้ามปี[5]

ในการแสดงเพลงนั้น บทเพลงส่วนใหญ่ประพันธ์โดยฉลอง ตี้กุล หรือชื่อในวงการเพลง อาจารย์หมี เหนือคลอง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ อดีตผู้รับเหมาที่ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์จนเป็นอัมพาตอยู่แรมปีที่สะสมบทเพลงที่แต่งขึ้นด้วยความอุตสาหะถึง 200 เพลงในสมาร์ตโฟนแต่ยังไม่ให้ผู้ใดนำไปร้อง กระทั่งฉลองได้ดูการแสดงของบัญญัติในแผ่นซีดีจึงประทับใจและติดต่อไปเพื่อมอบเพลงให้ไปร้อง บัญญัติรู้สึกชอบเพลงดังกล่าวจึงนำไปร้องอยู่เรื่อยมา จนออกเป็นอัลบั้มขายดี เช่น ลมหายใจปลายด้ามขวาน พระเอกนายหนัง รักน้องต้องคลำ[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง http://kaekae.oas.psu.ac.th/ojs/rlej/include/getdo... http://www.opm.go.th/opmportal/pageconfig/hilight/... https://www.amarintv.com/news/detail/18659 https://www.facebook.com/profile.php?id=1000007701... https://www.facebook.com/profile.php?id=1000417892... https://mgronline.com/south/detail/9560000045305 https://mgronline.com/south/detail/9620000102833 https://www.posttoday.com/social/goodstory/457090 https://www.posttoday.com/social/goodstory/579521 https://www.silpa-mag.com/culture/article_37457